ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อาฏานาฏิยปริตร

ตำนานพระปริตร ตอนอาฏานาฏิยปริตร


อาฏานาฏิยปริตร ว่าด้วยพระพุทธมนต์ที่สามารถป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวง บางแห่งกล่าวไว้ว่า สามารถป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้มีสุขภาพดีและมีความสุข

เกิดเมื่อท้าวมหาราชทั้งสี่ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสุวัณ ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่เกรงว่าหากพวกอสูรรู้ว่าบนดาวดึงส์ไม่มีใครอยู่ ก็อาจจะถือโอกาสมารบกวน ซึ่งพวกตนอาจจะกลับมาไม่ทัน จึงได้จัดตั้งกองทหารไว้ ๔ กอง ประกอบด้วยคนธรรพ์ ยักษ์ นาค รักษาแต่ละทิศไว้ แล้วก็พากันไปประชุมที่อาฏานาฏิยนคร พร้อมทั้งผูกมนต์เป็นอาฏานาฏิยปริตรขึ้นมา จากนั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าบริวารของท้าวมหาราชเหล่านั้น ต่างก็มีปฏิกิริยาต่อพระพุทธองค์ต่าง ๆ กัน เพราะบ้างก็นับถือ บ้างก็ไม่นับถือ จนเป็นเหตุให้บรรดาสาวกของพระพุทธเจ้าที่ไปบำเพ็ญธรรมตามที่ต่าง ๆ ต้องถูกผี ปีศาจ ยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสเหล่านั้นรบกวนทำให้เจ็บไข้ หรือได้รับอันตรายต่าง ๆ นานา ท้าวเวสสุวัณจึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธองค์รับอาฏานาฏิยปริตรไว้ประทานแก่สาวกของพระองค์ เพื่อป้องกันมิให้ยักษ์และภูตผีปีศาจรบกวน ซึ่งเนื้อความเป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะเป็นเวลานอน เดิน ยืน หรือนั่ง ขอให้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นคุ้มครองรักษาให้พ้นภัย พ้นโรคและความเดือดร้อนต่าง ๆ มีความเชื่อว่าใครได้ภาวนาพระปริตรบทนี้เป็นประจำ ยักษ์ ผี ปีศาจ จะช่วยคุ้มครองให้มีแต่ความสุขความเจริญ

บทสวดมีดังนี้ คือ


วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต สิขิสสะปิ นะมัตถุ สัพพะภูตานุกัมปิโน
ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้ทรงพระจักษุ ทรงพระสิริ
ขอนอบน้อมแด่พระสิขีพุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง


เวสสะภุสสะ นะมัตถุ นะหาตะกัสสะ ตะปัสสิโน นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ มาระเสนัปปะมัททิโน
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ชำระกิเลสได้แล้ว มีตบะ
ขอนอบน้อมพระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ทรงเอาชนะมารและกองทัพได้


โกนาคะมะนัสสะ นะมัตถุ พราหมะณัสสะ วุสีมะโต กัสสะปัสสะ นะมัตถุ วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ
ขอนอบน้อมพระโกณาคมนพุทธเจ้า ผู้ลอยบาปอยู่แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง


อังคีระสัสสะ นะมัตถุ สักยะปุตตัสสะ สิรีมะโต โย อิมัง ธัมมะมะเทเสสิ สัพพะทุกขาปะนูทะนัง
ขอนอบน้อมพระศากยบุตรพุทธเจ้า ผู้ทรงพระฉัพพรรณรังสี
ผู้ทรงสิริ ผู้ทรงแสดงธรรมขจัดทุกข์ทั้งปวง


เย จาปิ นิพพุตา โลเก ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง เต ชะนา อะปิสุณา มะหันตา วีตะสาระทา
อนึ่ง พระอรหันต์เหล่าใดในโลก ดับกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งตามความเป็นจริง
พระอรหันต์เหล่านั้นปราศจากวาจามุ่งร้าย เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่สะทกสะท้าน


หิตัง เทวะมะนุสสานัง ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง วิชชาจะระณะสัมปันนัง มะหันตัง วีตะสาระทัง
วิชชาจะระณะสัมปันนัง พุทธัง วันทามะ โคตะมันติ

ท่านเหล่านั้นย่อมนมัสการพระโคตรมะ ผู้ทรงเกื้อกูลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่สะทกสะท้าน


(บางตำราจะจบลงแค่นี้ ในขณะที่บางตำรามีเพิ่มเติมบทต่อไปนี้ด้วย)



เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา อะเนกะสะตะโกฏะโย สัพเพ พุทธา อะสะมะสะมา สัพเพ พุทธา มะหิทธิกา
พระสัมพุทธเจ้าเจ็ดพระองค์เหล่านั้น และพระสัมพุทธเจ้าหลายร้อยโกฏิเหล่าอื่น
ทุกพระองค์เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเปรียบ ทุกพระองค์ล้วนทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่


สัพเพ ทะสะพะลูเปตา เวสารัชเชหุปาคะตา สัพเพ เต ปะฏิชานันติ อาสะภัณฐานะมุตตะมัง
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงพระทศพลญาณและพระเวสารัชชญาณ
ทรงยืนยันความตรัสรู้อันประเสริฐแกล้วกล้าของพระองค์


สีหะนาทัง นะทันเต เต ปะริสาสุ วิสาระทา พรหมะจักกัง ปะวัตเตนติ โลเก อัปปะฏิวัตติยัง
พระพุทธเจ้าเหล่านี้ ทรงปราศจากความครั่นคร้าม บันลือสีหนาทในท่ามกลางพุทธบริษัท
ประกาศธรรมจักรอันประเสริฐในโลก ไม่มีผู้ใดจะคัดค้านได้


อุเปตา พุทธะธัมเมหิ อัฏฐาระสะหิ นายะกา ทวัตติงสะลักขะณูเปตา สีตยานุพยัญชะนาธะรา
พระองค์ทรงเป็นผู้นำ ทรงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๑๘ ประการ
ทรงประกอบด้วยพระพุทธลักษณะ ๓๒ ประการ และพระอนุลักษณะ ๘๐


พยามัปปะภายะ สุปปะภา สัพเพ เต มุนิกุญชะรา พุทธา สัพพัญญุโน เอเต สัพเพ ขีณาสะวา ชินา
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงพระฉัพพรรณรังสีโดยรอบหนึ่งว่า ทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐ
รู้แจ้งธรรมทั้งปวง สิ้นอาสวะ และเป็นผู้ชนะ


มะหัปปะภา มะหาเตชา มะหาปัญญา มะหัพพะลา มะหาการุณิกา ธีรา สัพเพสานัง สุขาวะหา
ทรงมีพระรัศมีสว่างไสว ทรงมีเดชมาก มีปัญญามาก มีกำลังมาก
มีความกรุณาใหญ่หลวง มั่นคง ประทานความสุขแก่ชนทั้งปวง


ทีปา นาถา ปะติฏฐา จะ ตาณา เลณา จะ ปาณินัง, คะตี พันธู มะหัสสาสา สะระณา จะ หิเตสิโน
พระองค์ทรงเป็นที่พัก ที่พึ่ง ที่พำนัก คุ้มครองหลบภัยของเหล่าสัตว์ ทรงเป็นที่ไป
เป็นญาติ เป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นผู้ขจัดทุกข์ และกระทำประโยชน์


สะเทวะกัสสะ โลกัสสะ สัพเพ เอเต ปะรายะนา เตสาหัง สิระสา ปาเท วันทามิ ปุริสุตตะเม
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลกและเทวดา ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระบาทยุคล
ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า ขอน้อมไหว้พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษประเสริฐ


วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเมเต ตะถาคะเต สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา
ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระตถาคตเจ้าเหล่านั้นในเวลายืน เดิน นั่ง นอน ด้วยวาจา ด้วยใจเสมอ

สะทา สุเขนะ รักขันตุ พุทธา สันติกะรา ตุวัง เตหิ ตวัง รักขิโต สันโต มุตโต สัพพะภะเยนะ จะ
ขอพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทานพระนิพพาน จงคุ้มครองท่านให้มีความสุขเสมอ
เมื่อพระองค์คุ้มครองท่านแล้ว ขอให้ท่านปลอดจากภัยทั้งปวงเถิด


สัพพะโรคะวินิมุตโต สัพพะสันตาปะวัชชิโต สัพพะเวระมะติกกันโต นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ
ขอท่านจงปลอดจากโรคทั้งปวง ปราศจากความเดือดร้อนทุกอย่าง ไม่มีใคร ๆ ปองร้าย เป็นผู้สงบ

เตสัง สัจเจนะ สีเลนะ ขันติเมตตาพะเลนะ จะ เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะ จะ
ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ปราศจากโรค มีความสุข
ด้วยพลานุภาพแห่งความสัตย์ ศีล ขันติ และเมตตาธรรม


ปุรัตถิมัสมิง ทิสาภาเค สันติ ภูตา มะหิทธิกา เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะ จะ
เหล่าคนธรรพ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศบูรพา จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

ทักขิณัสมิง ทิสาภาเค สันติ เทวา มะหิทธิกา เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะ จะ
เหล่ากุมภัณฑ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศทักษิณ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

ปัจฉิมัสมิง ทิสาภาเค สันติ นาคา มะหิทธิกา เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะ จะ
เหล่านาคผู้มีฤทธิ์มากในทิศประจิม จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

อุตตะรัสมิง ทิสาภาเค สันติ ยักขามะหิทธิกา เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะ จะ
เหล่ายักษ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศอุดร จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

ปุรัตถิเมนะ ธะตะรัฏโฐ ทักขิเณนะ วิรุฬหะโก ปัจฉิเมนะ วิรูปักโข กุเวโร อุตตะรัง ทิสัง
ท้าวธตรฐเป็นผู้รักษาโลกทิศบูรพา ท้าววิรุฬหกรักษาโลกทิศทักษิณ
ท้าววิรูปักษ์รักษาโลกทิศประจิม ท้าวกุเวรรักษาโลกทิศอุดร


จัตตาโร เต มะหาราชา โลกะปาลา ยะสัสสิโน เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ
ขอมหาราชผู้รักษาโลกทั้งสี่พระองค์ ผู้มีบริวารมากดังกล่าว จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

อากาสัฏฐา จะ ภุมมัฏฐา เทวา นาคา มะหิทธิกา เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะ จะ
ขอเหล่าเทวดาและนาคผู้มีฤทธิ์มาก สถิตอยู่ในอากาศและบนพื้นดิน จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข


(เมื่อสวดถึงตอนนี้แล้ว บางตำราต่อด้วยคำสวดต่อไปนี้
ซึ่งเรามักจะได้ยินจากพระสงฆ์สวดเป็นการให้พรในเวลาที่เราถวายสิ่งของใด ๆ เสร็จแล้ว)



อิทธิมันโต จะ เย เทวา วะสันตา อิธะ สาสะเน เตปิ อัมเหนุรักขันตุ อะโรเคนะ สุเขนะ จะ
ขอเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก อาศัยอยู่ในพระศาสนานี้ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
ขอสิ่งร้ายทั้งปวงจงบำราศไป ขอโรคทั้งปวงจงพินาศไป ขอท่านอย่ามีอันตราย เป็นผู้มีความสุข

อะภิวาทะนะสีลิสนะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้นบไหว้ และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์


(บางตำราสวดต่อด้วยบทต่อไปนี้แทนบทข้างต้น)



นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลัง ฯ
ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง ธัมโม เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลัง ฯ
ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลัง ฯ
ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

ยังกิญจิ ระตะนัง โลเก วิชชะติ วิวิธัง ปุถุ ระตะนัง พุทธะสะมัง นัตถิ ตัสมา โสตถี ภะวันตุ เต
รัตนะต่าง ๆ มากชนิด บรรดามีในโลก รัตนะนั้นจะเสมอด้วยพระพุทธรัตนะย่อมไม่มี
เพราะเหตุนั้น ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่าน


ยังกิญจิ ระตะนัง โลเก วิชชะติ วิวิธัง ปุถุ ระตะนัง ธัมมะสะมัง นัตถิ ตัสมา โสตถี ภะวันตุ เต
รัตนะต่าง ๆ มากชนิด บรรดามีในโลก รัตนะนั้นจะเสมอด้วยพระธรรมรัตนะย่อมไม่มี
เพราะเหตุนั้น ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่าน


ยังกิญจิ ระตะนัง โลเก วิชชะติ วิวิธัง ปุถุ ระตะนัง สังฆะสะมัง นัตถิ ตัสมา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ
รัตนะต่าง ๆ มากชนิด บรรดามีในโลก รัตนะนั้นจะเสมอด้วยพระสงฆ์รัตนะย่อมไม่มี
เพราะเหตุนั้น ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่าน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น