ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

อภยปริตร 

ตำนาน     
       ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินนิมิต ถึงอาเพศ ๑๖ อย่าง แล้วให้เกิดความหวาดหวั่น ต่อมรณภัยที่มองไม่เห็น จึงทรงเล่าพระสุบินนั้น ให้พราหมณ์ปุโรหิตรับฟัง พราหมณ์ปุโรหิตพยากรณ์ว่าจะบังเกิดเหตุการณ์ให้พระองค์มีอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งราชสมบัติด้วย
     
       ปุโรหิตนั้น ได้ทูลแนะวิธีป้องกันอันตราย ด้วยบัญญัติวิธี คือ เอาสัตว์อย่างละ ๔ ๆ มาฆ่าบูชายัญ
     
       พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงทรงมีรับสั่งให้จัดเตรียม ประจำพิธีและสิ่งของ ตามถ้อยคำของปุโรหิตบอก
     
       ครานั้น พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงทูลขึ้นว่า เสด็จพี่อย่าพึ่งทำยัญพิธีกรรมใด ๆ เลย ขอได้โปรดเสด็จไปทูลถาม ถึงพระสุบินนิมิตนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู มิมีสิ่งใดที่พระพุทธองค์ไปรู้
     
       ราชาโกศล จึงเสด็จพร้อมมเหสีและบริวาร ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร แจ้งทูลถามถึงสุบินนิมิตทั้ง ๑๖ ข้อนั้น
     
       พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ภัยอันตรายใด ๆจะพึงบัง เกิดมีแก่พระองค์ จากเหตุแห่งพระสุบินนิมิตนั้น หามีไม่ สุบินนิมิตของพระองค์ เป็นสิ่งบอกเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หวังจากเราตถาคตนิพพานไปแล้ว และในที่สุดพระผู้มีพระภาค จึงทรงขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ล้มเลิกยัญพิธีทั้งปวงเสีย
     
       บัดนี้ถึงกาลอันควรแล้ว ขอเชิญพระสาวกแก้ว ได้โปรดสาธยาย อะภะยะปริตร เพื่อพิชิตอวมงคลทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น ให้พินาศไป ด้วยเทอญ



เนื้อหาของอภัยปริตรกล่าวถึงการขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัยช่วยบำบัดปัดเป่าลางร้ายอันเกิดจากเสียงนกที่ทำให้ไม่สบายใจ บาปเคราะห์   ฝันร้ายและสิ่งอันเป็นอัปมงคลทั้งหลายทั้งปวง ให้พินาศไป

อภยปริตร
ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
พุทธานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุฯ

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
ธัมมานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุฯ

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
สังฆานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุฯ

คำแปล
ลางร้ายใด   อัปมงคลใด  เสียงนกที่น่าสะพรึงกลัวใด  เคราะห์ร้ายและฝันร้ายที่ไม่น่าปรารถนาใด   ด้วยพุทธานุภาพ  ขอความเลวร้าย ทั้งปวงนั้นจงพินาศไปสิ้น

ลางร้ายใด   อัปมงคลใด   เสียงนกที่น่าสะพรึงกลัวใด  เคราะห์ร้ายและฝันร้ายที่ไม่น่าปรารถนาใด  ด้วยธรรมมานุภาพ   ขอความเลวร้ายทั้งปวงนั้นจงพินาศไปสิ้น

ลางร้ายใด  อัปมงคลใด  เสียงนกที่น่าสะพรึงกลัวใด  เคราะห์ร้ายและฝันร้ายที่ไม่น่าปรารถนาใด  ด้วยสังฆานุภาพ  ขอความเลวร้าย   ทั้งปวงนั้นจงพินาศไปสิ้นฯ
บทขัดอังคุลิมาลปริตร
 การที่พระสงฆ์นำเอาอังคุลิมาลปริตรมาเจริญในงานมงคลทั่ว ๆ ไปในปัจจุบัน  ก็เป็นการน้อมความจริงที่พระพุทธองค์สอนพระองคุลิมาล ทำสัจจกิริยาให้เกิดเป็นพุทธานุภาพทำให้หญิงมีครรภ์คลอดบุตรโดยสวัสดี
นอกจากนั้น องคุลิมาลปริตรยังมีอานุภาพขจัดโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ให้อันตรธานหายไปได้อีกด้วย

อังคุลิมาลปริตร
ยะโตหัง  ภะคินิ  อะริยายะ  ชาติยา  ชาโต  นาภิชานามิ  สัญจิจจะ  ปาณัง   ชีวิตา  โวโรเปตา  เตนะ  สัจเจนะ  โสตถิ  เต  โหตุ  โสตถิ  คัพภัสสะฯ
คำแปล
น้องหญิง  ตั้งแต่อาตมาเกิดในอริยชาติแล้ว  มิได้มีเจตนา จะทำลายชีวิตสัตว์เลยด้วยความสัตย์จริงนั้นขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่บุตรในครรภ์ของเธอด้วยฯ    
แม้แต่น้ำล้างตั่งของพระองคุลิมาลเถระ ผู้กล่าวสัจจะปริตร ยังบัน ดาลให้อันตรายทั้งปวงหายไปได้

     
     
อนึ่ง พระปริตรบทใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสแก่พระองคุลิมาลเถระ ย่อมยังการคลอดบุตรให้สำเร็จโดยสวัสดี ในทันทีทันใด ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงสาธยายพระปริตรบทนั้น ซึ่งมีเดชมากอยู่จนตลอดกัปป์เทอญ
     
       ตำนาน
     
      

ณ แว่นแคว้นโกศลราช ที่บ้านพราหมณ์ปุโรหิต อันเป็นอาจารย์ของพระเจ้าโกศล ภรรยาของท่านปุโรหิตได้ตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด พอถึงการอันควร นางพราหมณีภรรยาปุโรหิตนั้น ก็คลอดบุตรออกมาเป็นผู้ชาย ขณะที่ทารกน้อยนั้นคลอดออกจากครรภ์มารดา ก็ให้บัง เกิดอาเพศเหตุอัศจรรย์ เครื่องศัสตราวุธ ของมีคมทั้งหลายภายในเมือง บังเกิดเป็นแสง รัศมีสีแดงรุ่งเรือง ประดุจดังถูกเปลวไฟเผาไหม้กำลังจะหลอมละลาย ครั้นเมื่อจับต้อง ก็หาได้บังเกิดความร้อนไม่
     
     
ฝ่ายปุโรหิตผู้เป็นบิดา รู้ทักษา รู้ฤกษ์นิมิตหมาย จึงได้รู้อยู่แก่ใจว่า บุตรของตนเป็นกาลกิณี เป็นการีต่อผู้คน หมู่ชนในบ้านเมือง จึงออกเดินทางจากบ้าน ไปเข้าเฝ้าพระราชาโกศล แล้วทูลว่า
     
     
ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า บัดนี้ได้บังเกิดอาเพศ มีเหตุให้ระคายเคืองเบื้องพระบาท ของพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า เรื่องก็มาจากกุมารบุตรของหม่อมฉัน ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา เป็นเหตุให้ศัสตราวุธลุกเป็นไฟด้วยเดชและศักดิ์ดา ของกุมารน้อยนั้น เมื่อเจริญวัย จะมีจิตใจหยาบช้า จะเข่นฆ่าหมู่ชน จะเป็นเหตุให้มหาชนเดือดร้อนเป็นอันมาก ขอพระองค์ทรงโปรดให้จับกุมารนั้น ไปประหารเสียเถิด เพื่อมิให้เป็นภัยต่ออาณาประชาราชสืบไป
     
     
พระเจ้าโกศล เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นพุทธมามกะ จึงทรงมีจิตเมตตา ทรงตรัสห้ามว่า อย่าเลยท่านปุโรหิต กุมารน้อยเพิ่งจะลืมตามาดูโลก ดุจดังไม้อ่อน ขึ้นอยู่แต่ผู้ฟูมฟักปลูกฝัง สั่งสอนดัดกาย วาจา ใจ ให้เขาเป็นอะไร ก็จะเป็นเช่นนั้น ท่านมายกลูกให้เราฆ่า เราก็จะรับเอาไว้ แต่จะไม่ฆ่า จะส่งคืนให้ท่านไปช่วยเลี้ยงดู ฟูมฟักถนุถนอม อบรมสั่งสอนแทนเราด้วย แล้วจึงทรงตั้ง ชื่อกุมารน้อยนั้นว่า อหิงสกะ
     
     
กาลเวลาล่วงเลยมา จนกุมารอหิงสกะ เจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่มรูปงาม ร่างกายกำยำแข็งแรง ท่านปุโรหิตและนางพราหมณี จึงส่งลูกชายให้ไปศึกษาศิลปวิทยา ณ เมืองตักกศิลา ตามคตินิยมของคนในยุคนั้น
     
     
อหิงสกะ มานพหนุ่มนอกจากจะเป็นผู้มีรูปงาม ร่างกายแข็งแรง ยัง เป็นผู้มีความฉลาดหลักแหลม เข้าไปเรียนศิลปวิทยา กับอาจารย์ไม่นานเท่าไหร่ ก็เข้าใจรอบรู้สรรพวิทยาของอาจารย์ได้ทั้งหมดเท่าที่อาจารย์สอน อีกทั้งยังเป็นผู้กตัญญูรู้คุณอาจารย์ มีกตเวทิตา พยายามตอบแทนพระคุณอาจารย์ ด้วยช่วยเหลือกิจการงานทุกอย่างที่อาจารย์พึงมี จนเป็นที่อิจฉาริษยาแก่บรรดาศิษย์คนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วม ด้วยการหาเล่ห์ใส่ไคร้ว่า อหิงสกะจะเป็นชู้แก่ภรรยาของอาจารย์ แรก ๆ อาจารย์ก็มิเชื่อ ต่อ ๆ มาความดีของอหิงสกะ กลับ เป็นที่โปรดปรานของภรรยาอาจารย์ยิ่งนักถึงกับกล่าวนิยมชมชอบในตัวอหิงสกะ แก่สามีของตนว่า เออ.. นี่แน่ ท่านพี่ อหิงสกะศิษย์ของท่านคนที่ช่างน่ารัก น่าเอ็นดูยิ่ง มีน้ำใจช่วยเหลือการงานภายในบ้าน แถมยัง อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เหมือนศิษย์อื่นที่มีมา
     
     
เมื่อภรรยาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ กล่าวนิยมชมชอบในตัวอหิงสกะมานพ ให้แก่อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้ฟังอยู่บ่อย ๆ อีกทั้งกลุ่มศิษย์ที่ริษยา ก็พากันพูดใส่ไคร้ให้อาจารย์หลงผิด ปุถุชนคนธรรมดาอย่างอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็พลอยเชื่อตามคำยุยง จึงคิดแค้นในใจว่า หนอย...เจ้าอหิงสกะ คิดจะกินบนเรือนแล้วมาขี้รดบนหลังคา เห็นทีข้าต้องหาทางฆ่ามัน ให้ได้ คิดดังนั้นแล้ว จึงออกอุบาย เรียกอหิงสกะมา แล้วกล่าวว่า
     
     
ศิษย์รัก เจ้าก็อยู่กับข้ามานาน ชาญฉลาดทั้งยัง ช่วยทำการงานทุกอย่างภายในบ้าน ข้าจึงคิดจะตอบแทนเจ้า ด้วยการสอนมนต์ที่ชื่อว่า วิษณุอิทธิมนต์ให้แก่เจ้า แต่การจะเรียนมนต์ มิใช่ง่าย ถ้าเรียนได้ก็จะวิเศษสุด ผู้ที่จะเรียนมนต์นี้ จะต้องนำนิ้วของคนมาคนละนิ้ว รวมกันให้ได้พันนิ้ว แล้วร้อยเป็นพวงมาลา เพื่อบูชาพระวิษณุ จึงจะเรียนมนต์นี้สำเร็จ ศิษย์รัก เจ้าจงออกไปหานิ้วมนุษย์มา ให้ครบพันเพื่อทำมาลาประกอบพิธีเถิด
     
     
อหิงสกะมานพ พอได้ฟังคำของอาจารย์ จึงกล่าวแก่อาจารย์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้ประเสริฐ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าท่านอาจารย์จะสั่งอะไร ให้ข้าให้ขึ้นเขาลงห้วย ข้าช่วยทำให้หมด ไม่เคยขัด แต่ครั้งนี้ ข้าขอขัดท่านอาจารย์สัก ครั้ง ด้วยเหตุว่า การทำร้าย ทำลาย ฆ่าคน ผิดวิสัยของผู้ดีมีศีล แม้ว่าข้าจะปรารถนาอย่างที่สุดที่จะเรียนรู้วิษณุมนต์ ข้าก็มิอาจทำปาณาติบาตฆ่าคนได้ ขอท่านอาจารย์โปรดกรุณาอดโทษแก่ข้าพเจ้า
             
ข้างฝ่ายอาจารย์ เห็นกิริยาของอหิงสกะ ผู้เป็นศิษย์ กล่าวถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ดังนั้นก็คิดว่า ไอ้ศิษย์เนรคุณคนนี้ ยังจะมาทำเสแสร้งแกล้งรักษาศีลต่อหน้าเรา
     
ทั้ง ๆ ที่คิดจะเป็นชู้ต่อเมียเรา ดีหละเราก็ต้องเสแสร้งแกล้ง ทำมายาแก่มันบ้าง คิดดังนั้นแล้ว ผู้เป็นอาจารย์ก็ทำทีเป็นร้องไห้ฟูมฟาย แล้วก็รำพึงรำพันว่า โถ..โถ.. ดูรึ สวรรค์ เราสู่อุตส่าห์ มีความเมตตากรุณาต่อศิษย์คิดจะประสาทสรรพวิทยายันต์มนต์อันศักดิ์สิทธิ์ แต่ศิษย์กับ มาคิดเล็กคิดน้อย แถมพูดให้เราได้รับความน้อยเนื้อต่ำใจ เทพไท.. เอย.. ท่านเทพไท ข้าคงจะไม่มีวาสนาเป็นอาจารย์ แก่ศิษย์ผู้นี้เสียแล้ว ว่าแล้วก็ทำเป็นร้องไห้ต่อไป
     
     
อหิงสกะมานพ เห็นผู้เป็นอาจารย์มีกิริยาอาการเสียใจเพราะ คำพูดของตน จึงรู้สึกผิดและให้นึกสงสารเห็นใจผู้เป็นอาจารย์ยิ่งนัก ด้วยความกตัญญู จึงตกปากรับคำว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ ในเมื่อเป็นความประสงค์ของอาจารย์ที่ปรารถนาจะให้ศิษย์ได้ดีมีวิชา ศิษย์ก็มิบังอาจขัดคำสั่ง ขอท่านอาจารย์โปรดจงหยุดร้องไห้เสียเถิด
     
     
อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงหยุดร้องไห้ แล้วก็ทำทีเป็นสวมกอดศิษย์รัก พร้อมทั้งหยิบดาบส่งให้แล้วสั่งว่าอหิงสกะเอย เจ้าฆ่าคนและจงตัดเอานิ้วชี้มาคนละนิ้วให้ได้หนึ่งพันนิ้ว แล้วร้อยเป็นพวงมาลา นำมาให้เราบูชาองค์พระวิษณุเพื่อเรียนมนต์
     
     
อหิงสกะมานพ ถือดาบตระเวนไล่ฟันเข่นฆ่าผู้คน ล้มตายไปมากมาย จนเป็นที่หวาดกลัวแก่ผู้คน ถึงขนาดขนานนามว่าองคุลิมาลโจรชนทั้งหลาย จึงไปร้องทุกข์ทูลเรื่องแก่พระเจ้าโกศลให้ทรงทราบ
     
     
พระเจ้าโกศลราช ทรงทราบความเดือดร้อนของอาณาประชาราช จึงจัดส่งเจ้าพนักงานให้ออกไปสืบข้อเท็จจริง ว่าโจรองคุลิมาล เป็นใครกันแน่ ทำไมจึงได้เที่ยวไล่ฆ่าผู้ค
     
     
ครั้นเมื่อได้ทรงทราบว่า ที่แท้องคุลิมาลโจร ก็คืออหิงสกะ บุตรของปุโรหิตนั่นเอง พระเจ้าโกศลราชจึงมีรับสั่งให้จัดเตรียมทัพเพื่อจะไปจับ โจรองคุลิมาลฆ่าเสีย
     
     
ข้างนางพราหมณีภรรยาของปุโรหิต มารดาของอหิงสกะพอได้ทราบว่า บัดนี้ลูกชายที่ส่งไปเรียนวิชา ณ เมืองตักกศิลาได้กลายเป็นโจรไล่เข่นฆ่าผู้คน จนพระราชาต้องนำทัพไปปราบ ด้วยความรักของแม่ที่มีต่อบุตรสุดชีวิต ไม่คิดเสียดายแม้ชีวิตจะมีอันตราย จึงออกเดินทางล่วงหน้า เพื่อหวังจะไปบอกแก่ลูกว่ากำลังจะมีภัย ให้ลดละเลิกทำปาณาติบาตเสีย
     
     
ยามสุดท้ายของราตรีนั้น องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงเลงข่ายพระญาณ ตรวจดูสรรพสัตว์ จึงได้ทราบว่าองคุลิมาลโจร มีอุปนิสัยอรหัตผล ถ้าเช้าวัน นี้พระองค์ไม่ทรงโปรด องคุลิมาลโจร ก็จะทำมาตุฆาต เป็นอนันตริยกรรมขาดจากอุปนิสัยอรหันต์
     
     
ครั้นเมื่อถึงกาลอรุณสมัย องค์สมเด็จพระจอมไตร จึงทรงเสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาล ด้วยอิทธิปาฏิหารย์ โดยปรากฏพระวรกายเฉพาะหน้าของโจรองคุลิมาล  ซึ่งในขณะนั้น นางพราหมณีมารดาของโจรองคุลิมาล ก็ถึงเฉพาะหน้าลูกชายพอดี องค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงทรงเนรมิตร มิให้โจรองคุลิมาล มองเห็นมารดาเพราะทรงทราบว่า ถ้าโจรองคุลิมาลเห็นมารดาก็จะฆ่าเสีย เหตุเพราะจำมารดาไม่ได้
     
     
โจรองคุลิมาล เมื่อได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มิได้รู้จัก แต่ก็คิดในใจว่า เราตระเวนหานิ้วคนเวลานี้ได้ ๙๙๙ นิ้วแล้ว ยังจะขาดอีกนิ้ว สมณะผู้นี้ดูงามมีสง่า แต่ก็น่าเสียดายที่จะต้องมาตายเสียวันนี้ คิดดังนั้น แล้วจึงถือดาบวิ่งไล่หมายใจว่าจะฟันหัวให้ขาด แล้วตัดเอานิ้วเสีย
     
     
องคุลิมาลโจร วิ่งไล่มาได้ไกลแม้หลายโยชน์ แต่ก็หาทันไม่ ซึ่งปกติแม้ม้าอาชาไนยที่แข็งแรงก็อย่าได้หมาย จะได้วิ่งชนะแก่องคุลิมาลโจรเลย แต่มาวันนี้ เขากำลังวิ่งไล่ตามสมณะผู้กำลังเดินธรรมดา ๆ
     
       องคุลิมาลโจร จึงป้องปากตะโกนร้องบอกว่า หยุดก่อนสมณะ หยุดก่อนสมณะ สมณะหยุดก่อน
     
       พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสในขณะที่ทรงพระดำเนินว่า เราหยุดแล้วประสก เราหยุดแล้ว
     
       องคุลิมาล จึงกล่าวตอบว่า ท่านเป็นสมณะ ดูรึ ยังจะมากล่าวมุสาอีก
     
     
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตรัสตอบว่า เรามิได้มุสา เราหยุดแล้วจากการก่อเวร ละบาปและอกุศลกรรมทั้งปวงได้แล้วมีแต่ประสกนั่นแหละ ที่ยังไม่หยุดจากการทำบาปอกุศลกรรม
     
     
องคุลิมาลโจร พอได้สดับพระสุรเสียงนั้น จึงได้สติคิดว่าจริงซินะ สมณะผู้นี้ เป็นผู้หยุดก่อเวร ละบาปและอกุศลกรรมทั้งปวงได้แล้ว คงมีแต่เรายัง วิ่งแสวงหา
     
     
แต่บาปและอกุศลกรรม ซึ่งก็จะให้ผลเป็นทุกข์ในที่สุด คิดดังนี้แล้ว องคุลิมาลจึงได้หยุดวิ่ง แล้วปล่อยมีดให้หลุดจากมือ เปรื้องมาลานิ้วมือที่คล้องคอทิ้งเสีย แล้วนั่งคุกเข่าอัญชลี พร้อมทั้งขอติดตามออกบวช
     
     
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงคลายฤทธิ์ ทำให้องคุลิมาลเห็นมารดา มารดาก็เห็นองคุลิมาล แล้วทรงมีพุทธฏีกาตรัสให้ องคุลิมาลไปกราบขอขมา ขออนุญาตบรรพชาจากมารดา แล้วจึงให้องคุลิมาลตามเสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร
     
     
กาลต่อมา เมื่อองคุลิมาลไปบรรพชาอุปสมบทแล้ว จึงเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถุ ชาวเมืองเมื่อได้รู้ว่าองคุลิมาล เดินผ่านบ้านตน ต่างฝ่ายต่างก็ตกใจกลัววิ่งหนีเข้าบ้านปิดประตูลั่นดาน ซ่อนตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีใครยอมออกมาใส่บาตร
     
     
ขณะนั้น มีนางหญิงท้องแก่ เห็นองคุลิมาลภิกษุเดินมา ก็กลัวลนลาน จะหลบเข้าบ้านก็เดินออกมาไกลจากบ้าน อยู่บริเวณเขตรั้ว จึงได้ก้มตัวลงเพื่อจะคลานรอดรั้วหนีองคุลิมาลภิกษุไปให้พ้น แต่เจ้ากรรมช่วงหัวและหน้าอกลอดผ่านพ้นรั้วไปได้ และสุดท้ายติดครรภ์ที่โตใกล้คลอด ขณะนั้นนางเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมากระทันหันดิ้นรนร้องทุรนทุรายติดคารั้วบ้านอยู่
     
     
องคุลิมาลภิกษุ เมื่อเดินผ่านมาเห็นเข้า บังเกิดจิตเมตตาปรารถนาที่จะช่วยหญิงนั้น แต่ก็มิรู้จักทำประการใดจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "ดูก่อนน้องหญิง บัดนี้เราได้เกิดในสกุลพระสมณะ ศากยะผู้ประเสริฐพระองค์นั้นแล้ว มิได้เบียดเบียน ทำร้ายทำลายสัตว์ตนใด ให้เดือดร้อนเสียหาย นี้เป็นคำสัตย์ ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและบุตรในครรภ์ด้วยเทอญ"
     
     
หญิงนั้นจึงได้คลอดลูกออกมาโดยง่าย ปราศจากอันตรายและโดยสวัสดี ต่อมาภายหลัง ชนทังหลายมีความเลื่อมใสถึงขนาดนำน้ำไปล้างตั่งที่นั่งของท่านแล้วเอาไปให้หญิงหรือสัตว์มีครรภ์กิน หญิงและสัตว์นั้นพลันคลอดบุตรง่าย
     
       เมื่อพระองคุลิมาล ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานช่วยหญิงนั้นแล้ว ท่านก็ออกเดินบิณฑบาต จนได้อาหารแล้วกลับที่พักมาเจริญสมณธรรมต่อไป
     
     
ภิกษุองคุลิมาล ขณะเจริญสมณธรรม ก็มีจิตคิดฟุ้งซ่าน เห็นแต่กายมนุษย์ที่ถูกตนฆ่า มาในรูปอสุรกาย ปรากฏเฉพาะหน้า ยืนยื่นมือร้องทวงชีวิตเป็นเช่นนี้อยู่เนืองนิจ จนความนี้รู้ถึงองค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงทรงมีพุทธโอวาทตรัสสอนว่า
     
       ดูก่อนภิกษุ เธอจงมีความเพียรเพ่งอยู่ เพื่อกำจัดบาปในใจ ดุจดัง บุรุษเอาสาหร่ายจอกแหนออกจากบ่อน้ำฉะนั้น
     
       ภิกษุองคุลิมาล ปฏิบัติพุทธโอวาท ไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลผู้วิเศษในศาสนา

ขันธปริตร

ขันธปริต บทสวดป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษ



วิรูปักเขหิ เม เมตตัง
ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญางูทั้งหลาย สกุลวิรูปักข์ด้วย
เมตตัง เอราปะเถหิ เม
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลเอราบทด้วย
ฉัพยาปุตเตหิ เม เมตตัง
ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญางูทั้งหลาย สกุลฉัพยาบุตรด้วย
เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ
ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญางูทั้งหลายสกุลกัณหาโคตมกะด้วย
อะปาทะเกหิ เม เมตตัง
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่ไม่มีเท้าด้วย
เมตตัง ทิปาทะเกหิ เม
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่มีสองเท้าด้วย
จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่มีสี่เท้าด้วย
เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่มีหลายเท้าด้วย
มา มัง อะปาทะโก หิงสิ
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเรา
มา มัง หิงสิ ทิปาทะโก
สัตว์สองเท้าอย่าเบียดเบียนเรา
มา มัง จะตุปปะโท หิงสิ
สัตว์สี่เท้าอย่าเบียดเบียนเรา
มา มัง หิงสิ พะหุปปะโท
สัตว์หลายเท้าอย่าเบียดเบียนเรา
สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา
ขอสรรพสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลาย
สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา
ที่เกิดมาทั้งหมดจนสิ้นเชิงด้วย
สัพเพ ภัทรานิ ปัสสันตุ
จงเห็นซึ่งความเจริญทั้งหลายทั้งปวงเถิด
มา กิญจิ ปาปะมาคะมา
โทษลามกใดๆ อย่าได้มาถึงแล้ว แก่สัตว์เหล่านั้น
อัปปะมาโณ พุทโธ
พระพุทธเจ้า ทรงพระคุณ ไม่มีประมาณ
อัปปะมาโณ ธัมโม
พระธรรม ทรงพระคุณ ไม่มีประมาณ
อัปปะมาโณ สังโฆ
พระสงฆ์ ทรงพระคุณ ไม่มีประมาณ
ปะมาณะวันตานิ สิริงสะปานิ อะหิ วิจฉิกา สะตะปะที อุณณานาภี สะระพู มูสิกา
สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมลงป่อง ตะเข็บ ตะขา แมงมุม ตุ๊กแก หนู
เหล่านี้ ล้วนมีประมาณ ( ไม่มากเหมือนพระรัตนตรัย )
กะตา เม รักขา กะตา เม ปะริตตา
ความรักษา อันเรากระทำแล้ว การป้องกัน อันเรากระทำแล้ว
ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ
หมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย
โสหัง นะโม ภะคะวะโต
เรานั้น กระทำนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่
นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานังฯ
กระทำนอบน้อม แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ็ดพระองค์อยู่ ฯ 

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ธชัคคปริตร 

ธชัคคสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยอานุภาพแห่งการระลึกถึง    พระรัตนตรัย ที่พระพุทธองค์ทรงนำเอาเรื่องการทำสงครามระหว่างเทพกับเทพอสูรมาเป็นข้อเปรียบเทียบ เพื่อเตือนใจภิกษุผู้ไปทำความเพียร อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรอันเงียบสงัด ห่างไกลจากผู้คนสัญจรไปมา
การ อยู่ท่ามกลางป่ากว้างดงลึกของภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนเช่นนั้น ย่อมจะก่อให้เกิดความหวาดกลัวขนผองสยองเกล้า เมื่อเกิดความรู้สึก  หวาดกลัว พระพุทธองค์แนะนำให้ภิกษุระลึกถึงธง คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ หรือพระสังฆคุณ  แล้วจะสามารถข่มใจระงับความหวาดกลัวบำเพ็ญเพียร ต่อไปได้
การสวดธชัคคสูตรก็เพื่อเป็นการทำลายความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปอยู่ต่างถิ่น หรือในสถานที่ที่ไม่       คุ้นเคย โดยน้อมเอาคุณของพระรัตนตรัยมาสร้างเสริมกำลังใจให้เกิด ความอาจหาญแกล้วกล้าในการต่อสู่อันตรายและอุปสรรคนานาประการ
นอกจากนั้น ธชัคคสูตรยังช่วยคุมครองป้องกันอันตรายจากที่สูง หรืออันตรายทางอากาศ เช่น อันตรายจากการขึ้นต้นไม้สูง  อันตรายจากการเดินทางที่ต้องผ่านหุบเขาเหวผาสูงชัน อันตรายจากสิ่งที่ตกหล่นมาจากอากาศ และในปัจจุบันยังนิยมใช้สวดเพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากการเดินทางโดยเครื่องบิน
โดยทั่วไปการสวดบทธชัคคสูตรไม่นิยมสวดทั้งสูตร แต่จะสวดเฉพาะบทสรรเสริญพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ  ซึ่งเป็นหัวใจของพระสูตรนี้  เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า  "สวดอิติปิโส"   เว้นไว้แต่มีเวลามากและต้องการสวดเป็นกรณีพิเศษจึงจะสวดทั้งสูตร
ธชัคคสูตร(
เอวัมเม  สุตัง  ฯ  เอกัง  สะมะยัง  ภะคะวา  สาวัตถิยัง  วิหะระติ  เชตะวะเน  อะนาถะปิณฑิกัสสะ  อาราเม  ฯ  ตัตระ  โข  ภะคะวา  ภิกขู  อามันเตสิ  ภิกขะโวติ  ฯ  ภะทันเตติ  เต  ภิกขู  ภะคะวะโต  ปัจจัสโสสุง  ฯ  ภะคะวา  เอตะทะโวจะ
ภูตะปุพพัง  ภิกขะเว  เทวาสุระสังคาโม  สะมุปัพะยุฬโห  อะโหสิฯ  อะถะโข  ภิกขะเว  สักโก  เทวานะมินโท  เทเว  ตาวะติงเส  อามันเตสิ  สะเจ  มาริสา  เทวานัง  สังคามะคะตานัง  อุปปัชเชยยะ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  มะเมวะ  ตัสะมิง  สะมะเย  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  มะมัง  หิ  โว  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหิยยิสสะติ  โน  เจ  เม  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ
อะถะ ปะชาปะติสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  ปะชาปะติสสะ  หิ  โว  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง                      ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหิยยิสสะติ  โน  เจ  ปะชาปะติสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ
อะถะ  วะรุณัสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  วะรุณัสสะ  หิ  โว  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหิยยิสสะติ  โน  เจ  วะรุณัสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ
อะถะ  อีสานัสสะ  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลเกยยาถะ  อีสานัสสะ หิ   โว   เทวะราชัสสะ   ธะชัคคัง   อุลโลกะยะตัง   ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง   วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหิยยิสสะตีติ  ฯ
ตัง  โข  ปะนะ  ภิกขะเว  สักกัสสะ  วา  เทวานะมินทัสสะ  ธะชัคคัง   อุลโลกะยะตัง  ปะชาปะติสสะ  วา  เทวะราชัสสะ   ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง   วะรุณัสสะ  วา  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  อีสานัสสะ  วา  เทวะราชัสสะ  ธะชัคคัง  อุลโลกะยะตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง   วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหิยเยถาปิ  โนปิ  ปะหิยเยถะ  ตัง  กิสสะ  เหตุ  สักโก  หิ  ภิกขะเว  เทวานะมินโท  อะวีตะราโค  อะวีตะโทโส  อะวีตะโมโห  ภิรุฉัมภี  อุตะราสี  ปะลายีติ  ฯ
อะหัญจะ  โข  ภิกขะเว  เอวัง  วะทามิ  สะเจ  ตุมหากัง  ภิกขะเว  อะรัญญะคะตานัง  วา  รุกขะมูละคะตานัง  วา  สุญญาคาระคะตานัง  วา  อุปปัชเชยยะ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  มะเมวะ  ตัสะมิง  สะมะเย  อะนุสสะเรยยาถะ
อิติปิ  โส   ภะคะวา   อะระหัง   สัมมาสัมพุทโธ  วิชชาจะระณะ - สัมปันโน  สุคะโต  โลกะวิทู   อะนุตตะโร   ปุริสะทัมมะสาระถิ  สัตถา เทวะมะนุสสานัง  พุทโธ ภะคะวาติ มะมัง  หิ  โว ภิกขะเว  อะนุสสะระตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา   โส  ปะหิยยิสสะติ   โน  เจ  มัง  อะนุสสะเรยยาถะ  อะถะ  ธัมมัง  อะนุสสะเรยยาถะ
สวากขาโต   ภะคะวะตา   ธัมโม  สันทิฏฐิโก   อะกาลิโก             เอหิปัสสิโก  โอปะนะยิโก  ปัจจัตตัง  เวทิตัพโพ  วิญญูหีติ ธัมมัง  หิ  โว  ภิกขะเว   อะนุสสะระตัง   ยัมภะวิสสะติ   ภะยัง   วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส   วา  โส  ปะหิยยิสสะติ  โน  เจ  ธัมมัง  อะนุสสะเรยยาถะ  อะถะ   สังฆัง   อะนุสสะเรยยาถะ
สุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  อุชุปะฏิปันโน               ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  ญายะปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  สามีจิปะฏิปันโน  ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ  ยะทิทัง  จัตตาริ ปุริสะยุคานิ  อัฏฐะ  ปุริสะปุคคะลา  เอสะ  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  อาหุเนยโย    ปาหุเนยโย  อัญชะลีกะระณีโย  อะนุตตะรัง  ปุญญักเขตตัง  โลกัสสาติ
สังฆัง  หิ  โว  ภิกขะเว  อะนุสสะระตัง  ยัมภะวิสสะติ  ภะยัง   วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส  วา  โส  ปะหิยยิสสะติ  ตัง  กิสสะ  เหตุ    ตะถาคะโต  หิ  ภิกขะเว  อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  วีตะราโค   วีตะโทโส   วีตะโมโห  อะภิรุ  อัจฉัมภี  อะนุตราสี  อะปะลายีติ   ฯ  อิทะมะโวจะ   ภะคะวา  อิทัง  วัตะวานะ  สุคะโต  อะถาปะรัง  เอตะทะโวจะ  สัตถา
อะรัญเญ  รุกขะมูเล  วา                 สุญญาคาเร  วะ  ภิกขะโว
อะนุสสะเรถะ  สัมพุทธัง                 ภะยัง  ตุมหากะ  โน  สิยา
โน  เจ  พุทธัง  สะเรยยาถะ           โลกะเชฏฐัง  นะราสะภัง
อะถะ   ธัมมัง  สะเรยยาถะ             นิยยานิกัง  สุเทสิตัง
โน  เจ  ธัมมัง  สะเรยยาถะ            นิยยานิกัง  สุเทสิตัง
อะถะ  สังฆัง  สะเรยยาถะ             ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง
เอวัมพุทธัง  สะรันตานังธัมมัง  สังฆัญจะ  ภิกขะโว
ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วาโลมะหังโส  นะ  เหสสะตีติ  ฯ
คำแปล
ข้าพเจ้า   ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร  อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี  ใน             เวลานั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า  "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "พระพุทธเจ้าข้า"  ดังนี้แล้ว       พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์ต่อไปว่า
ภิกษุทั้งหลาย  เรื่องราวในอดีตกาลอันไกลโพ้นเคยมีมา              แล้ว  ได้เกิดสงครามระหว่างเหล่าเทวดากับเหล่าอสูรขึ้น  ครั้งนั้น                             ท้าวสักกเทวราช  ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทพ  ตรัสเรียกเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า  ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย  ถ้าพวกเทวดาเข้าสู่สงครามแล้วเกิดความกลัว  หวาดสะดุ้ง  ขนพองสยองเกล้า  ขอให้ท่านทั้งหลายแลดูยอดธงของเรา  เพราะเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของเราแล้วความกลัว      ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ถ้าพวกท่านทั้งหลายแลดูยอดธงเราไม่ได้  ก็ขอให้แลดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดี  เพราะเมื่อท่านทั้งหลายมองดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดีแล้ว  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ถ้าท่านทั้งหลายแลดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดีไม่ได้      ก็ให้แลดูยอดธงของเทวราชชื่อวรุณ  เพราะเมื่อท่านแลดูยอดธงของเทวราช ชื่อวรุณแล้ว  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ถ้าท่านทั้งหลายแลดูยอดธงของเทวราชชื่อวรุณไม่ได้  ก็ให้ แลดูยอดธงของเทวราชชื่ออีสาน  เพราะเมื่อท่านแลดูยอดธงของเทวราชชื่ออีสานแล้ว  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ภิกษุทั้งหลาย  แท้จริงแล้ว  เมื่อเหล่าเทวดาทั้งหลายแลดูยอดธงของท้าวสักกเทวราช  แลดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดี  แลดูยอดธงของเทวราชชื่อวรุณ  หรือแลดูยอดธงของเทวราชชื่ออีสาน  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่  บางทีก็หายได้  บางทีก็ไม่หาย  เพราะเหตุไร   ภิกษุทั้งหลาย  เพราะว่าท้าวสักกเทวราชยังไม่สิ้นราคะ     ยังไม่สิ้นโทสะ  ยังไม่สิ้นโมหะ  ยังกลัว  ยังหวาดสะดุ้ง  ยังต้องหนี
ภิกษุทั้งหลาย  ส่วนเราตถาคตกล่าวอย่างนี้ว่า  ถ้าพวกเธอ       ทั้งหลายไปอยู่ตามป่า  ตามโคนไม้  ตามบ้านร้าง  หรือที่อื่นใดแล้วเกิด ความกลัว   หวาดสะดุ้ง   ขนพองสยองเกล้า  ขอให้เธอทั้งหลายระลึกถึงเราตถาคตว่า
"เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น  เป็นผู้ไกลจากกิเลส  ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  เสด็จไปดีแล้ว  ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง  สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า  ทรงเป็นครูของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบานด้วยธรรม  ทรงมีความสามารถในการจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์  ฯ"
ภิกษุทั้งหลาย  เพราะเมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงตถาคตอยู่  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ถ้าระลึกถึงตถาคตไม่ได้  ก็ให้ระลึกถึงพระธรรมว่า "พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว  ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง  เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล  สามารถ แนะนำผู้อื่นให้มาพิสูจน์ได้ว่า "ท่านจงมาดูเถิด" ควรน้อมนำมาไว้ในตัว  ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน  ฯ"
ภิกษุทั้งหลาย  เพราะเมื่อท่านทั้งหลายระลึกถึงพระธรรมอยู่  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ถ้าระลึกถึงพระธรรมไม่ได้  ก็ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า  "พระสงฆ์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้วปฏิบัติ       เพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์  ปฏิบัติเหมาะสม  ได้แก่บุคคล           เหล่านี้คือ  คู่แห่งบุรุษ ๔  คู่ นับเรียงลำดับได้ ๘ ท่าน นั่นแหละพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ซึ่งเป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาน้อมนำมาบูชา  ควรแก่สักการะที่เขาเตรียมไว้ต้อนรับ  ควรรับทักษิณาทาน  เป็น ผู้ที่บุคคลทั่วไปควรให้ความเคารพ  เป็นเนื้อนาบุญของโลก  ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า  ฯ"
ภิกษุทั้งหลาย  เพราะเมื่อเธอทั้งหลาย  ระลึกถึงพระสงฆ์แล้ว  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป  ที่เป็นเช่นนี้เพราะตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นราคะ  สิ้นโทสะ  สิ้นโมหะ  ไม่มีความกลัว  ไม่หวาดสะดุ้ง   ไม่หนี  พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา   ครั้นตรัสพุทธพจน์นี้แล้วจึงตรัสนิคมคาถาประพันธ์  ต่อไปอีกว่า
ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อเธอทั้งหลายไปอยู่ตามป่า  ตามโคนไม้     หรือตามบ้านร้าง  ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วพวกเธอก็จะไม่มี            ความหวาดกลัว  ถ้าพวกเธอทั้งหลายไม่สามารถระลึกถึงพระพุทธเจ้า  ผู้เป็นใหญ่ในโลก  ผู้แกล้วกล้ากว่านรชน  ก็ให้ระลึกถึงพระธรรม             อันสามารถนำสัตว์ออกจากทุกข์  ที่เราแสดงไว้ดีแล้วเถิด  ถ้าพวกเธอไม่สามารถระลึกถึงพระธรรมที่สามารถนำสัตว์ออกจากทุกข์อันเราแสดงไว้ดีแล้ว  ต่อจากนั้น  ก็ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มี นาบุญอื่นยิ่งกว่า  ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อท่านทั้งหลายน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์อยู่อย่างนี้  ความกลัว  ความหวาดสะดุ้ง  ความขนพองสยองเกล้าก็จักไม่มีแล  ฯ